คำว่า"ปรือคัน" มีที่มาจากชื่อเรียกของพื้นที่แถบนี้ในอดีตว่า "ปเร็ย-โรเมียะฮ" หรือ "ปเร็ย-รเมียะฮ" คนเก่าแก่ท่านได้เล่าต่อๆกันมาว่า บริเวณแถบนี้เดิมเป็นป่าทึบมาก(คำว่า "ป่า" ตรงกับคำภาษาเขมรว่า "ព្រៃ" อ่านว่า "ปเร็ย" ) มีสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะแรด ซึ่งตรงกับคำภาษาเขมรว่า "រមាស" อ่านว่า "โรเมียะฮ" หรือ "รเมียะฮ" ในอดีตพบแรดอาศัยอยู่กันอย่างชุกชุมมากในพื้นที่ บริเวณทิศใต้ของโรงเรียนบ้านมะขามในปัจจุบัน เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่มีน้ำขังอยู่ตลอดปี ป่าไม้มีความอุดมสมบูรณ์มีความเหมาะสมเป็นที่พักอาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด โดยเฉพาะแรด ได้ใช้บริเวณนั้นเป็นแหล่งสืบพันธุ์ และตั้งท้องออกลูก ชาวบ้านในสมัยนั้น ได้ไปพบเห็นหลายครั้งจึงขนานนามหนองน้ำแห่งนี้ว่า "ตระเพียงระเมียะฮกันเดียง" หรือเรียกกันติดปากอีกคำหนึ่งโดยละในฐานที่เข้าใจกันว่า "ตเพียงกันเดียง" คำว่า "ตระเพียง" เป็นคำนามในภาษากวยบ้านปรือคัน แปลว่า หนองน้ำ ส่วนคำว่า "กันเดียง" ก็เป็นคำกริยาในภาษากวยบ้านปรือคัน แปลว่า ตั้งท้อง ดังนั้น ที่ชาวบ้านเรียกกันต่อๆมาว่า "ตระเพียงกันเดียง" จึงหมายความว่า เป็นหนองน้ำที่มักพบสัตว์ตั้งท้อง หรือเป็นบริเวณที่มักพบสัตว์ป่า โดยเฉพาะแรด ใช้เป็นแหล่งสืบพันธุ์ และตั้งท้องออกลูก ปัจจุบัน "ตระเปียงกันเดียง" ได้ตื้นเขินลง มีสภาพเป็นทุ่งกว้าง และมีลักษณะเป็นที่ลุ่มอันอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านจึงได้จับจองที่ดินเพื่อใช้ในการเกษตร และปลูกข้าวต่อๆกันมาจนถึงทุกวันนี้
ต่อมาคำว่า "ปเร็ย-โรเมียะฮ" หรือ "ปเร็ย-รเมียะฮ" ชาวบ้านรุ่นหลังๆได้ออกเสียงคำนี้เพี้ยนเป็น "ปเร็ย-ระเมือะฮ" จนกระทั่งทางราชการได้ให้มีการตั้งชื่อหมู่บ้าน ผู้นำหมู่บ้านในยุคหลังบางคนไม่รู้และเข้าใจความเป็นมาของชื่อที่แท้จริง จึงได้แปลเป็นภาษาไทยเพื่อให้สามารถออกเสียงชื่อเรียกได้สะดวกยิ่งขึ้นว่า "ปรือคัน" คำนี้จึงใช้เป็นชื่อเรียกขานของหมู่บ้าน รวมทั้งเป็นชื่อเรียกของวัดปรือคันตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมาบ้านปรือคัน เป็นหมู่บ้านใหญ่ มีอาณาบริเวณกว้างขวางมีเส้นทางขุขันธ์โคกตาลตัดผ่าน หมู่บ้านที่อาศัยอยู่ทิศตะวันออกของเส้นทางราดยาง เรียกว่า "บ้านปรือคันตะวันออก" หมู่บ้านที่ตั้งอยู่ทิศตะวันตกทางราดยาง เรียกว่า "บ้านปรือคันตะวันตก" ซึ่งหมู่บ้านที่ตั้งของวัดปรือคันในปัจจุบัน และต่อมาได้แยกออกเป็นหลายหมู่บ้าน รวม ๑๐ หมู่บ้าน แต่ละหมู่บ้านสังกัดวัดปรือคันมีประมาณ ๘๐๐ หลังคาเรือน อนึ่งคนเก่าแก่ได้เล่าว่า "บ้านปรือคันตะวันออก" เดิมชื่อว่า "บ้านปรือ" ไม่มีคำว่า "คัน" ต่อท้ายสันนิฐานว่าน่าจะตั้งชื่อตามชื่อของหนองน้ำ ก็คือ "หนองปรือ" ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของบ้านปรือคันใต้ นั่นเอง
หลังจากหลวงพ่อมูล ได้ย้ายวัดไปตั้งอยู่ ณ บริเวณวัดปรือคัน ในปัจจุบันนั้น ท่านได้ปลูกสร้างกุฎีสงฆ์ด้านทิศเหนือของอุโบสถ เป็นหลังแรก ซึ่งในภายหลังได้ย้ายกุฎีสงฆ์ไปปลูกไว้ด้านทิศใต้ของอุโบสถของปัจจุบัน สำหรับด้านการปกครองท่านดำรงตำแหน่งเจ้าคณะปกครองสงฆ์ ซึ่งในสมัยนั้นเรียกตำแหน่งเป็น "เจ้าคณะหมวด" ซึ่งมีอำนาจปกครองทั้งสงฆ์และฆราวาส แล้วต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๓๐ หลวงพ่อมูลได้มรณะภาพด้วยโรคชรา
ในปี พ.ศ. ๒๔๓๗ ต่อมาหลวงพ่อกลัด อินฺทปญฺโญ ซึ่งเคยเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อสุนมาก่อน(เดิมท่านอยู่บ้านคะนา ตำบลห้วยสำราญ) หลวงพ่อสุนพามาบวชและได้จำพรรษาอยู่ที่วัดปรือคัน เมื่อหลวงพ่อสุน มรณะภาพ ท่านก็ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็น เจ้าอาวาสวัดปรือคัน ในที่สุด หลวงพ่อกลัด อินฺทปญฺโญ เป็นเจ้าอาวาสที่เคร่งครัดวินัย และมีปฏิปทาน่าเคารพศรัทธาและน่าเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง ท่านได้ปกครองพระภิกษุสามเณร แลอบรมสั่งสอนศีลธรรมให้ชาวบ้านตั้งมั่นอยู่ในธรรมวินัยเป็นอย่างดี
ด้านสาธารณูปการ หลวงพ่อกลัด อินฺทปญฺโญ ได้ริเริ่มก่อสร้างพระอุโบสถทำด้วยไม้ตลอดทั้งหลังลักษณะทรงไทย ๒ ชั้น มีชานต่อออกมาข้างนอก แล้วต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ จึงได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมา และได้สร้างพระประธานประจำอุโบสถ เสียค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น ๓๐ บาท (พระประธานประจำอุโบสถองค์ปัจจุบันได้สร้างครอบองค์เก่าเมื่อปี๒๕๑๒) และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ หลวงพ่อกลัดได้ถึงแก่มรณะภาพด้วยโรคชรา
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ พระเก่ง ฐานงฺกโร รักษาการแทนเจ้าอาวาสชั่วคราว แต่อยู่ได้ไม่นานก็ลาสิกขา แล้วพระทองก็ได้รับช่วงต่อ และรักษาการแทนเจ้าอาวาสมีบทบาทสำคัญในการก่อสร้างวัดอย่างมากในช่วงที่ครองสมณเพศมาจนถึง พ.ศ ๒๔๙๑ ก็ได้ลาสิกขา
ในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ พระกุน ฉายา สุกฺธมฺโม ได้รักษาการแทนเจ้าอาวาสจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ท่านมีสติไม่สมประกอบจึงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเจ้าอาวาสได้และได้ลาสิกขาในที่สุด ต่อมาพระสุพัฒณ์ ขนฺติโก ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลปรือใหญ่ และจำพรรษาที่วัดปรือคัน ประมาณ ๒ ปี ก็ลาสิกขา ในระหว่างนี้ พระชา ญาณวโร เข้าดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปรือคันแทน และต่อมาก็ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลปรือใหญ่ด้วย จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๓ จึงได้ลาสิกขา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น