คำว่า"ปรือคัน" มีที่มาจากชื่อเรียกของพื้นที่แถบนี้ในอดีตว่า "ปเร็ย-โรเมียะฮ" หรือ "ปเร็ย-รเมียะฮ" คนเก่าแก่ท่านได้เล่าต่อๆกันมาว่า บริเวณแถบนี้เดิมเป็นป่าทึบมาก(คำว่า "ป่า" ตรงกับคำภาษาเขมรว่า "ព្រៃ" อ่านว่า "ปเร็ย" ) มีสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะแรด ซึ่งตรงกับคำภาษาเขมรว่า "រមាស" อ่านว่า "โรเมียะฮ" หรือ "รเมียะฮ" ในอดีตพบแรดอาศัยอยู่กันอย่างชุกชุมมากในพื้นที่ บริเวณทิศใต้ของโรงเรียนบ้านมะขามในปัจจุบัน เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่มีน้ำขังอยู่ตลอดปี ป่าไม้มีความอุดมสมบูรณ์มีความเหมาะสมเป็นที่พักอาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด โดยเฉพาะแรด ได้ใช้บริเวณนั้นเป็นแหล่งสืบพันธุ์ และตั้งท้องออกลูก ชาวบ้านในสมัยนั้น ได้ไปพบเห็นหลายครั้งจึงขนานนามหนองน้ำแห่งนี้ว่า "ตระเพียงระเมียะฮกันเดียง" หรือเรียกกันติดปากอีกคำหนึ่งโดยละในฐานที่เข้าใจกันว่า "ตเพียงกันเดียง" คำว่า "ตระเพียง" เป็นคำนามในภาษากวยบ้านปรือคัน แปลว่า หนองน้ำ ส่วนคำว่า "กันเดียง" ก็เป็นคำกริยาในภาษากวยบ้านปรือคัน แปลว่า ตั้งท้อง ดังนั้น ที่ชาวบ้านเรียกกันต่อๆมาว่า "ตระเพียงกันเดียง" จึงหมายความว่า เป็นหนองน้ำที่มักพบสัตว์ตั้งท้อง หรือเป็นบริเวณที่มักพบสัตว์ป่า โดยเฉพาะแรด ใช้เป็นแหล่งสืบพันธุ์ และตั้งท้องออกลูก ปัจจุบัน "ตระเปียงกันเดียง" ได้ตื้นเขินลง มีสภาพเป็นทุ่งกว้าง และมีลักษณะเป็นที่ลุ่มอันอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านจึงได้จับจองที่ดินเพื่อใช้ในการเกษตร และปลูกข้าวต่อๆกันมาจนถึงทุกวันนี้
ต่อมาคำว่า "ปเร็ย-โรเมียะฮ" หรือ "ปเร็ย-รเมียะฮ" ชาวบ้านรุ่นหลังๆได้ออกเสียงคำนี้เพี้ยนเป็น "ปเร็ย-ระเมือะฮ" จนกระทั่งทางราชการได้ให้มีการตั้งชื่อหมู่บ้าน ผู้นำหมู่บ้านในยุคหลังบางคนไม่รู้และเข้าใจความเป็นมาของชื่อที่แท้จริง จึงได้แปลเป็นภาษาไทยเพื่อให้สามารถออกเสียงชื่อเรียกได้สะดวกยิ่งขึ้นว่า "ปรือคัน" คำนี้จึงใช้เป็นชื่อเรียกขานของหมู่บ้าน รวมทั้งเป็นชื่อเรียกของวัดปรือคันตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา
บ้านปรือคัน เป็นหมู่บ้านใหญ่ มีอาณาบริเวณกว้างขวางมีเส้นทางขุขันธ์โคกตาลตัดผ่าน หมู่บ้านที่อาศัยอยู่ทิศตะวันออกของเส้นทางราดยาง เรียกว่า "บ้านปรือคันตะวันออก" หมู่บ้านที่ตั้งอยู่ทิศตะวันตกทางราดยาง เรียกว่า "บ้านปรือคันตะวันตก" ซึ่งหมู่บ้านที่ตั้งของวัดปรือคันในปัจจุบัน และต่อมาได้แยกออกเป็นหลายหมู่บ้าน รวม ๑๐ หมู่บ้าน แต่ละหมู่บ้านสังกัดวัดปรือคันมีประมาณ ๘๐๐ หลังคาเรือน อนึ่งคนเก่าแก่ได้เล่าว่า "บ้านปรือคันตะวันออก" เดิมชื่อว่า "บ้านปรือ" ไม่มีคำว่า "คัน" ต่อท้ายสันนิฐานว่าน่าจะตั้งชื่อตามชื่อของหนองน้ำ ก็คือ "หนองปรือ" ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของบ้านปรือคันใต้ นั่นเอง
หลังจากหลวงพ่อมูล ได้ย้ายวัดไปตั้งอยู่ ณ บริเวณวัดปรือคัน ในปัจจุบันนั้น ท่านได้ปลูกสร้างกุฎีสงฆ์ด้านทิศเหนือของอุโบสถ เป็นหลังแรก ซึ่งในภายหลังได้ย้ายกุฎีสงฆ์ไปปลูกไว้ด้านทิศใต้ของอุโบสถของปัจจุบัน สำหรับด้านการปกครองท่านดำรงตำแหน่งเจ้าคณะปกครองสงฆ์ ซึ่งในสมัยนั้นเรียกตำแหน่งเป็น "เจ้าคณะหมวด" ซึ่งมีอำนาจปกครองทั้งสงฆ์และฆราวาส แล้วต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๓๐ หลวงพ่อมูลได้มรณะภาพด้วยโรคชรา
ในปี พ.ศ. ๒๔๓๗ ต่อมาหลวงพ่อกลัด อินฺทปญฺโญ ซึ่งเคยเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อสุนมาก่อน(เดิมท่านอยู่บ้านคะนา ตำบลห้วยสำราญ) หลวงพ่อสุนพามาบวชและได้จำพรรษาอยู่ที่วัดปรือคัน เมื่อหลวงพ่อสุน มรณะภาพ ท่านก็ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็น เจ้าอาวาสวัดปรือคัน ในที่สุด หลวงพ่อกลัด อินฺทปญฺโญ เป็นเจ้าอาวาสที่เคร่งครัดวินัย และมีปฏิปทาน่าเคารพศรัทธาและน่าเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง ท่านได้ปกครองพระภิกษุสามเณร แลอบรมสั่งสอนศีลธรรมให้ชาวบ้านตั้งมั่นอยู่ในธรรมวินัยเป็นอย่างดี
ด้านสาธารณูปการ หลวงพ่อกลัด อินฺทปญฺโญ ได้ริเริ่มก่อสร้างพระอุโบสถทำด้วยไม้ตลอดทั้งหลังลักษณะทรงไทย ๒ ชั้น มีชานต่อออกมาข้างนอก แล้วต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ จึงได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมา และได้สร้างพระประธานประจำอุโบสถ เสียค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น ๓๐ บาท (พระประธานประจำอุโบสถองค์ปัจจุบันได้สร้างครอบองค์เก่าเมื่อปี๒๕๑๒) และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ หลวงพ่อกลัดได้ถึงแก่มรณะภาพด้วยโรคชรา
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ พระเก่ง ฐานงฺกโร รักษาการแทนเจ้าอาวาสชั่วคราว แต่อยู่ได้ไม่นานก็ลาสิกขา แล้วพระทองก็ได้รับช่วงต่อ และรักษาการแทนเจ้าอาวาสมีบทบาทสำคัญในการก่อสร้างวัดอย่างมากในช่วงที่ครองสมณเพศมาจนถึง พ.ศ ๒๔๙๑ ก็ได้ลาสิกขา
ในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ พระกุน ฉายา สุกฺธมฺโม ได้รักษาการแทนเจ้าอาวาสจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ท่านมีสติไม่สมประกอบจึงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเจ้าอาวาสได้และได้ลาสิกขาในที่สุด ต่อมาพระสุพัฒณ์ ขนฺติโก ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลปรือใหญ่ และจำพรรษาที่วัดปรือคัน ประมาณ ๒ ปี ก็ลาสิกขา ในระหว่างนี้ พระชา ญาณวโร เข้าดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปรือคันแทน และต่อมาก็ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลปรือใหญ่ด้วย จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๓ จึงได้ลาสิกขา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น